เกี่ยวกับเทศบาล
โครงสร้างหน่วยงาน
ข้อมูลพื้นฐานและสภาพทั่วไป
วิสัยทัศน์และพันธกิจ
อำนาจ และหน้าที่ของเทศบาล
ประกาศ / คำสั่ง
   
โครงสร้างบุคลากร
 
ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร










Counter
สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
ขณะนี้
1  คน
  สถิติวันนี้
99  คน
  สถิติเดือนนี้
1993  คน
  สถิติปีนี้
8,790  คน
สถิติทั้งหมด
79,417  คน

 

  
  Un title page
ข้อมูลพื้นฐานและสภาพทั่วไป


1.ด้านกายภาพ
          1.1 ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล



        มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
          ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลป่าเมี่ยง และตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด
          ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง
          ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน
          ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลป่าป้อง และตำบลแม่ฮ้อยเงิน อำเภอดอยสะเก็ด

          จำนวนหมู่บ้าน ในเขตปกครองของ เทศบาลตำบลแม่โป่ง(Villages) เทศบาลตำบลแม่โป่งมี 10 หมู่บ้านในเขตปกครองได้แก่

หมู่ที่ 1 บ้านตลาดขี้เหล็ก
หมู่ที่ 2 บ้านป่าไผ่
หมู่ที่ 3 บ้านห้วยบอน
หมู่ที่ 4 บ้านแม่โป่งหลวง
หมู่ที่ 5 บ้านพระนอนแม่โป่ง
หมู่ที่ 6 บ้านห้วยอ่าง
หมู่ที่ 7 บ้านต้นผึ้ง
หมู่ที่ 8 บ้านแม่ฮ่องไคร้
หมู่ที่ 9 บ้านป่าไม้แดง
หมู่ที่ 10 บ้านห้วยบ่อทอง

        ประวัติความเป็นมา ของตำบลแม่โป่ง
          จากการศึกษาเอกสารและคำเล่าขานนานมา พอเริ่มต้นได้ว่า ผืนแผ่นดินลุ่มน้ำกว้างใหญ่มองไป
ทางทิศตะวันออกจากยอดดอยสุเทพที่สูงสง่าอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ทอดสายตาข้ามฝั่งแม่น้ำปิงไปทางทิศตะวันออก เห็นพื้นที่ลุ่มน้ำล้านนา เรียกชื่อรวมกันว่า “ลุ่มน้ำแม่กวง” เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชุมชนคนลุ่มน้ำย่อยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ลาดเอียงตามเส้นทางสายน้ำไหลเริ่มจากผืนป่าใหญ่ตั้งแต่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันออก เอียงละม้ายสู่ทางทิศใต้ รวมเป็นพื้นที่แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ฝั่งตะวันออก เป็นแหล่งกำเนิดสายธารจากป่าต้นน้ำ ไหลมาจากร่องขุนเขาผีปันน้ำ ตั้งแต่ยอดดอยนางแก้ว ยอดดอยลังกา เทือกเขาใหญ่แนวกั้นเขตแดนเมืองเชียงใหม่ เชียงรายและลำปาง ร่องลำห้วยเล็กใหญ่ประกอบด้วย ลำน้ำห้วยคัง -ลำน้ำแม่กวง-ลำน้ำแม่หวาน-ลำน้ำแม่วอง-ลำน้ำแม่ลาย-ลำน้ำแม่ดอกแดง-ลำน้ำแม่โป่ง-ลำน้ำ แม่ออนและลำน้ำแม่ทา ลำน้ำทุกสายไหลมาสมทบรวมกันเป็นระยะ ๆ ตามสภาพลาดเอียงตั้งแต่ต้น กลาง ปลาย ของสายน้ำ รวมเป็นแม่น้ำกวงสายใหญ่ ไหลผ่านพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด สันทราย สันกำแพง สารภี จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอเมืองลำพูน สบกับน้ำแม่ทาซึ่งไหลมาจากต้นน้ำฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของแนวเทือกเขาทอดไปติดต่อเขตพื้นที่จังหวัดลำปาง และไหลลงสู่น้ำปิง ในเขตพื้นที่อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สองข้างฝั่งลุ่มน้ำตลอดสายที่แผ่กระจายไปด้วยความอุดมของดินดำ น้ำชุ่ม หลากหลายพืชพรรณธัญญาหาร บนผืนสวนทุ่งนาและที่ราบชายป่าเชิงเขา เป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยวิถีชุมชนคนพื้นเมือง ที่เพียบพร้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกสรรสร้างอย่างลงตัวมาแต่อดีต
          ก่อนถึงยอดขุนเขาต้นน้ำชั้นลึกสลับเป็นทิวทับซ้อนหลายชั้น จากทิศเหนือสู่ทิศตะวันออกถึง
ทิศใต้ จะเห็นมีเทือกเขาชั้นในทอดเป็นแนวยาวอีกชั้นหนึ่ง เปรียบดังเป็นกำแพงเมืองกั้นชั้นนอกไว้ ก่อนถึงเมืองใหญ่ เหมาะเป็นชัยภูมิที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเมืองของผู้คน เพื่อผลิตเสบียงอาหารสะสมไว้ยามปกติสุข และยามรบทัพจับศึกเป็นอย่างยิ่ง ปรากฏหลักฐานแหล่งที่ตั้งบ้านเมือง ของกลุ่มคนเผ่าลัวะ ในอดีตตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ตามตำนานได้กล่าวถึงฤๅษี ผู้นำคนชุมชนปกครองกันเองบนถิ่นฐานที่ตั้งพื้นที่ลุ่มน้ำ แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน มีวิถีชีวิตสืบสานตามตำนานปรัมปรา ยึดความเชื่อเทพเทวา ภูตผี พราหมณ์ เป็นหลักปฏิบัติ ต่อมามีคนจากแหล่งวัฒนธรรมต่างพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มสายคนไท จีนฮ่อ ที่อพยพเคลื่อนย้ายลงมา จากแอ่งเชียงราย-เชียงแสน-พะเยา ได้เข้ามาสู่แอ่งเชียงใหม่-ลำพูน รวมกับกลุ่มคนมอญ(เม็ง)ดั้งเดิม ได้ผสมผสานระบบความเชื่อ วิถีการผลิต โดยใช้อารยะธรรมอินเดียและจีน นำแนวทางตามศาสนาพุทธและพราหมณ์ จัดระบบส่งสวยบรรณาการและการค้าเศรษฐกิจ ก่อนเกิดขึ้นของแว่นแคว้นรัฐล้านนา ที่เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางราชธานีขึ้นไป จากร่องรอยมาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ยุคที่รัฐหริภุญไชย(ลำพูน)เจริญรุ่งเรือง ได้นำพุทธศาสนามาใช้สอดคล้องระหว่างกันปรากฏหลักฐานเห็นเป็นกำแพงคูเวียงเมืองเก่า เจดีย์เก่า เขตคามวัดร้าง รวมถึงวัตถุโบราณศิลปวัตถุ รวมถึงก่อสร้างปั้นพระพุทธรูปดินเผา พระพิมพ์ดินเผา ตามแต่ละปางสมัย ทั้งองค์เล็กองค์ใหญ่ รวมทั้งปรับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปประดิษฐานในหัวเมืองต่าง ๆตามความเชื่อและศรัทธาเพื่อพึ่งพาบารมีแก่ผู้คนในความปกครอง แสดงการเปลี่ยนแปลงตามแต่ละยุคสมัยสืบทอดกันมา ในพื้นที่ราบลุ่มน้ำปิงฝั่งตะวันออก “ลุ่มน้ำแม่กวง”ที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ไปถึงเขตที่ราบเชิงเขา จากใต้จรดเหนือเรียงรายตามเส้นทางคมนาคมสัญจร ซึ่งเรียบเลาะไปตามสายน้ำหลัก และแม่น้ำสาขาย่อย โดยเฉพาะ “สายน้ำแม่โป่ง” มีเส้นทางผ่านของผู้คนที่สัญจรไปมาระหว่างเมืองเล็ก เมืองใหญ่ ด้วยการเดินเท้าและใช้ช้าง ม้า วัวควาย เป็นพาหนะ ได้แก่ วัวต่าง ม้าต่าง และล้อเกวียน สำหรับขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร สมัยแต่ก่อนนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ารก ป่าดิบ มีถนนหนทางเล็กๆ ผิวถนนเป็นทรายเป็นทางผ่านไปป่าเมี่ยง ใช้พาหนะในการเดินทาง และขนส่งคือ วัวต่าง ม้าต่าง เป็นจุดพักของพ่อค้ามาแวะพัก 1 คืน รุ่งเช้าเดินทางต่อไปยังป่าเมี่ยงของพ่อค้าแม่ค้าวัวต่าง ม้าต่าง ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนา ทำสวน ปลูกยาสูบ มีการใช้เงินดวงตราซื้อขายแลกเปลี่ยนกันแล้วแต่ ส่วนใหญ่จะนำของมาแลกเปลี่ยนกัน เสื้อผ้าสมัยก่อน ราคาประมาณ 5 – 6 บาท น้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคมาจากบ่อน้ำ หรือน้ำบ่อที่แต่ละบ้านขุดเอง ปัจจุบันน้ำบ่อมีอยู่บางบ้านยังใช้ในการอุปโภค สำหรับน้ำบริโภคใช้น้ำประปา เริ่มมีการใช้ธนบัตรในช่วงประมาณรัชสมัยรัชการที่ 8 การแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมือง กางเกงเตี่ยวสะดอ การจัดงานรื่นเริง มหรสพ ประเพณีต่างๆ คือวัดเป็นศูนย์กลาง
ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน มีการสร้างบ้านเรือนประมาณ 100 หลัง หลังคามุงใบตองตึง ฝาบ้านจะเป็นฟากทำจากไม้ไผ่ ต่อมาก็จะเป็นบ้านไม้ปละปูน การประชุมหรือมีเหตุการณ์สำคัญใช้วิธีการประชาสัมพันธ์โดยการตีกะโหลกที่ทำจากไม้ ตีเป็นจังหวะที่ทุกคนต้องเข้าใจได้ในทันทีว่า ตีเพื่อประชุมหรือตีเพื่อบอกว่ามีเหตุร้าย เช่น ตีช้าเป็นจังหวะ เป็นการเรียกประชุม ถ้าตีรัวและเร็วเป็นการแจ้งว่าเกิดเหตุร้ายขึ้น การสื่อสารที่ไกลๆ จะใช้วิธีการบอก หรือฝากบอกต่อๆ กัน ยังไม่มีการเขียนจดหมาย ถ้าเจ็บป่วยมีหมอเมืองรักษา โดยใช้สมุนไพรเป็นยารักษา ไม่มีอนามัย ถ้าเจ็บป่วยหนักต้องเดินทางเข้ารักษาในเมือง ผู้ที่มีรถคันแรกของหมู่บ้าน คือ นายหมื่น วงคำปิ่น เป็นรถกระบะไม้ บ้านแม่โป่งเป็นบ้านที่มีโรงเรียนอยู่ในบริการโรงเรียนแรกในเขตแม่โป่ง ตามวิถีคนชุมชนคนพื้นที่ราบลุ่มจากเมืองหริภุญไชย(ลำพูน) ผ่านหัวเมืองเชียงใหม่ฝั่งตะวันออก ไปสู่เมืองเหนือ(เชียงราย) เมืองปาน และเมืองเขลางค์(ลำปาง) ผ่านช่องเขายอดดอยหลายแห่ง ได้แก่ยอดดอยนางแก้ว ยอดดอยลังกา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีทั้งกลุ่มคนเมืองและชาวเขาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นระยะ ๆ

        อดีตครั้งก่อนเมืองเก่าที่ตั้ง “ตำบลแม่โป่ง”

          จากคำเล่าขานเคยมีเมืองหน้าด่านเมืองหนึ่งหายไป แต่ไม่ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานยืนยัน ตั้ง
ซ่อนอยู่เชิงเขาแนวกำแพงสันเขาโอบล้อม อยู่ฝั่งทิศตะวันออกเยื้องไปทางทิศใต้ของลุ่มน้ำแม่กวง เปรียบดังเป็นเมืองลับแล ก่อนพุทธศตวรรษ ๑๙ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ของคนเมืองกลุ่มลัวะ มีการปกครองบ้านเมืองตามวิถีคนถิ่น ด้วยประเพณีความเชื่อพิธีกรรม บูชาผีปู่ ผีย่า ผีเสื้อบ้าน ผีป่า เทพาอารักษ์ มาแต่ดั้งเดิม และคล้ายคลึงกันอีกหลายเมืองในแผ่นดินลุ่มน้ำใหญ่ฝั่งตะวันออกนี้ ถึงต่อมาอิทธิพลยุคหริภุญไชยลำพูนรุ่งเรือง ได้นำพุทธศาสนามาเผยแผ่ มีการสร้างวัด สร้างเจดีย์ ปั้นหล่อพระพุทธรูป ไว้สักการบูชา รวมถึงนำมาจากบ้านเมืองอื่นทั้งเหนือและใต้ เพื่อเสริมสร้างบารมี ของผู้นำกลุ่มคนเมือง และแสดงถึงความเจริญเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจความเป็นอยู่ รวมถึงสะสมกำลัง เพื่อรักษาบ้านเมือง โดยรวมกันตั้งบ้านเมืองตามบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ปิง และลุ่มน้ำกวง ซึ่งแยกมาตามสายน้ำย่อยสาขาถึง “ลุ่มน้ำแม่โป่ง”

          จากหลักฐานเอกสารสรุปผลการสืบค้นของสำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ พบมีกลุ่มวัดร้างชื่อตามเรียกต่อกันมาว่า “วัดหลวงหนองงู” ลักษณะเป็นโบราณสถาน-โบราณวัตถุ อยู่กระจายเรียงรายเป็นกลุ่มใหญ่ ตามแนวเชิงเขาผืนป่ารกดก พื้นที่ราบเชิงเขา ณ บ้านห้วยอ่าง ซึ่งสันนิษฐานเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นในอาณาเขตบริเวณเมืองเก่า ที่ตั้งอยู่ในเขตป่าเชิงเขาใกล้หนองน้ำใหญ่ ไหลสู่ผืนดินกว้างใหญ่สองฝั่งน้ำที่มีอุดมสมบูรณ์ ประกอบกับมีตำนานเล่าขานเคยเป็นดินแดนแห่งตำนานทางพุทธศาสนา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาที่วัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง (ดอยชนแจ้ง) ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าแหล่งต้นน้ำของลำน้ำแม่โป่ง เล็ก ๆ หลายสาย คือห้วยบ้านก้า(พันค่า),ห้วยป่าไร่,ห้วยแม่กาด เป็นต้น เคยเป็นเขตพุทธาวาสที่พระอริยสงฆ์สาวก ได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดหลวงหนองงู แห่งนี้ และเป็นเขตธรรมทานสายทางบุญของครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทยและเส้นทางปฏิบัติธุดงค์กรรมของพระอริยสงฆ์ “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” และ ศิษยานุศิษย์ชื่อ หลวงพ่อลี ช่วงหนึ่งอาจเกิดสถานการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยเหตุเพสภัยหรือล้มป่วยของผู้คน วัดและบ้านเมืองได้ล่มสลายคงทิ้งไว้ให้เห็นแต่สิ่งปรักหักพังซ่อนอยู่มาแต่โบราณกาล มีหลักฐานปรากฏชัดเจนหลายแห่งของแต่ละพื้นที่ชุมชนรอบท้องทุ่งกว้าง “ลุ่มน้ำแม่โป่ง”ที่ตั้งหลักปักฐานเป็นหมู่บ้านและตำบลแม่โป่งในปัจจุบัน

       สภาพพื้นที่มาแต่อดีต
          สภาพผืนแผ่นดินที่คงอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติดินน้ำป่าที่สมบูรณ์เหมาะสม เป็นแหล่ง
เกษตรกรรมทำนา ทำสวน ผลิตพืชพันธ์ธัญญาหาร และเป็นท้องทุ่งเชิงป่าเลี้ยงช้างม้าวัวควาย สำหรับเป็นแรงงานและพาหนะทั้งยามปกติและเกิดศึกสงคราม เป็นที่ลุ่มสมกำลังป้องกันรักษาบ้านเมือง และเสริมสร้างบารมี ด้วยการทำบุญบำรุงพระพุทธศาสนาสร้างวัดวาอาราม เพื่อเป็นศูนย์กลางในการยึดถือศรัทธาผสมผสานด้วยการเคารพกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ผีปู่ ผีย่า สร้างจิตใจไพร่พลให้เข้มแข็ง ตั้งแต่ยุคสมัยนครรัฐ แว่นแคว้น มาจนถึงยุคอาณาจักรล้านนามาแต่อดีต ตั้งแต่สมัยราชวงค์พญามังราย สร้างเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรือง จนถึงยุคล้านนาเชียงใหม่เสียเอกราชแก่พม่าสมัยพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (ปี พ.ศ.๒๑๐๑) หัวเมืองต่าง ๆ ทั้งเหนือ ตะวันตก ตะวันออก ใต้ ต่างได้สู้รบเพื่อรักษาบ้านเมืองจนพ่ายแพ้แก่พม่า ผู้คนชนพื้นเมืองน้อยใหญ่ถูกทำร้ายล้มตาย ถูกทำลายศิลปกรรมโบราณสถาน โบราณวัตถุให้เสียหาย หลายเมืองถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง วัดร้าง พร้อมๆ กับเมืองเชียงใหม่ในระยะหนึ่ง จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๓ (พ.ศ. ๒๓๑๗) พระเจ้ากาวิละได้ตีเมืองเชียงใหม่คืนมาจากพม่า เป็นที่มาของการฟื้นฟูพัฒนา ได้รวบรวมผู้คนพื้นเมืองที่หลบหนีไปอยู่ตามป่าเขา “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” อาณาจักรล้านนาจึงมีหลากหลายไปด้วยกลุ่มคนชนชาติพันธุ์ ลัวะ เม็ง ไทลื้อ ไทยวน ไทเขิน เงี้ยว ม่าน จีนฮ่อ ฯลฯ ที่มาจากรัฐฉานและสิบสองปันนา ต่อมาได้รวมกับสยามประเทศเป็นราชอาณาจักรไทย และในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี มีการปฏิรูปการปกครอง เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล เรียก “มณฑลพายัพ” และมีแขวง(อำเภอ)ซึ่งเปรียบเป็นเมืองหน้าด่าน จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้พัฒนาการการปกครองเป็นจังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากแขวงน้ำแพร่ (เดิมตั้งอยู่บริเวณบ้านน้ำแพร่ ต.ตลาดขวัญ) ต่อมาย้ายที่ตั้งมาอยู่เชิงเขาดอยสะเก็ดซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง ณ ที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ดตั้งอยู่ปัจจุบัน
ตำบลแม่โป่ง ถูกตั้งขึ้น ใน ปี พ.ศ.๒๔๗๖ ตั้งชื่อขึ้นตามนามเรียกขานของลำน้ำแม่โป่ง
ดินแดนลุ่มน้ำฝั่งตะวันออกน้ำปิง เป็นลำน้ำย่อยสายหนึ่งของ “ลุ่มน้ำสาขาแม่กวง” ซึ่งเริ่มต้นเกิดจากลำห้วย ๒ สายคือ ลำน้ำห้วยโป่งนก เกิดจากป่าต้นน้ำบริเวณรอบ ๆ โป่งพุน้ำร้อน (เขต อ.แม่ออน ปัจจุบัน) ไหลมาเป็นลำห้วยฮ่องไคร้ ห้วยหนองบ่อเย็น ห้วยต้นยาง และลำห้วยแม่กาด ซึ่งเกิดมาจากป่าต้นน้ำบริเวณดอยจอมแจ้ง น้ำไหลมาเป็นลำห้วยบ้านก้า (พันค่า)-ห้วยปางแม่เฮือ (บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ) มาสบรวมกัน ณ บริเวณฝายพญาพรหม เรียกขานว่า “ลำน้ำแม่โป่ง”นอกจากนั้นยังคงมีลำห้วยสาขาย่อยอีกหลายสายที่เกิดขึ้นจากเทือกเขาหรือดอยน้อยใหญ่ ตั้งแต่ทิศเหนือ ทอดยาวไปทิศตะวันออก โอบมาทางทิศใต้ มีผืนป่าไม้เต็งรัง เบญจพรรณมากมาย ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่เขียวขจีกระจายครอบคลุมเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ มีสายธารธรรมชาติเล็กๆหลายสาย ได้แก่ ห้วยป่าไร่ ห้วยมะนะ ห้วยหัวไผ่ ห้วยบ่อทอง ห้วยเต๋ย ห้วยแม่จ้อง ห้วยบอน ห้วยหนองบ่อเย็น ห้วยต้นยาง ห้วยแสนวัด ห้วยหนองงู ห้วยหนองแมงดา ทุกสายไหลมาลงลำน้ำแม่โป่ง หล่อเลี้ยงผืนดินที่เป็นท้องทุ่งราบเอียงเชิงเขาและสองฝั่งซ้ายขวาตั้งแต่ต้นถึงปลายน้ำ

          การอพยพและตั้งถิ่นฐาน
          เขตพื้นที่สองฝั่งลุ่มน้ำแม่โป่ง ส่วนหนึ่งภูมิประเทศเป็นภูเขาเทือกเล็กและใหญ่ มีป่าไม้เบญจ
พรรณหลายชนิดที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ประมาณ ๑๘,๑๒๐ ไร่ อีกส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มลาดเอียงตามระดับ และเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ ประมาณ ๑๙,๖๓๑ ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ ๓๗,๗๕๑ ไร่ สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ จะอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่ค่อนข้างสมบูรณ์เหมาะสมต่อการทำการเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงวัว ควาย ช้าง ม้า ในอดีตผู้อาวุโสเล่าว่า พื้นที่ลุ่มน้ำแม่โป่ง บริเวณทุ่งหัวป่าไผ่และใกล้เคียง เคยเป็นที่เลี้ยงม้า เลี้ยงช้าง ของผู้ปกครองเมือง ชื่อ “พญาพรหม” ทำหน้าที่รักษาบ้านเมืองในยามศึกสงคราม เป็นแหล่งผลิตอาหารเป็นส่วนบรรณาการไปยังเมืองใหญ่ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและดำเนินชีวิตแบบชนบทดั้งเดิมด้วยภูมิปัญญา จนมาถึงยุคการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการปกครองของบ้านเมืองมาจนถึงยุคล้านนา จึงเกิดเป็นพื้นที่แหล่งที่มาของการตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง และเป็นแหล่งทำมาหากินของกลุ่มคนเมืองและสร้างบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัย ทำอาชีพส่วนใหญ่คือทำเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ และเลี้ยงสัตว์(วัว ควาย) รวมถึงตัดไม้แปรรูป ทำฟืน เผาถ่าน และเป็นพื้นที่เส้นทางผ่านของผู้คนที่ทำการค้าขายทั้งในหมู่บ้านและระหว่างตำบล ต่อมามีการสัมปทานป่าไม้โดยราชการ และส่งเสริมการปลูกยาสูบ เกิดกิจการโรงบ่มใบยาสูบขึ้นในพื้นที่ ประกอบพื้นที่ตำบลแม่โป่ง เป็นเส้นทางเดินผ่านของผู้คนโดยการเดินเท้าและใช้พาหนะ วัวต่าง ม้าต่าง และล้อเกวียนเป็นพาหนะในการขนถ่ายสินค้าไม้ซุง ไม้ฟืน ไม้แปรรูปสำหรับสร้างบ้านเรือน ขนถ่ายสินค้า ของกินของใช้ แลกเปลี่ยนระหว่างผู้คนทั้ง ระหว่างบ้านและเมืองต่าง ๆ ตลอดมา
เนื่องจากพื้นที่ตำบลแม่โป่ง เป็นดินแดนแห่งอารยะธรรมของชุมชนคนพื้นเมืองตามวิถี
เกษตรกรรมพึ่งพาป่าไม้และสายน้ำแม่โป่ง ซึ่งเปรียบดังเป็นสายเลือดเส้นใหญ่ ในการหล่อเลี้ยงดำรงชีวิตแบบคนพื้นเมืองชนบทมาตลอด ประกอบกับสภาพสังคมชุมชนส่วนใหญ่พึ่งพาสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ พร้อมไปกับการสร้างเสริมอย่างยั่งยืนทางจารีตประเพณีวิถีชนบท มีการก่อสร้างปรับปรุงบูรณะ วัดวาอารามศาสนา เป็นแหล่งศูนย์รวมยึดเหนี่ยวผูกพันทางจิตใจสืบสานไว้ด้วยวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามและความรักความศรัทธาอย่างต่อเนื่องมาแต่อดีต ถิ่นที่อยู่พื้นที่ตำบลแม่โป่ง หลังจากที่ได้รับพัฒนาการจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๗๖ เกิดกลุ่มคนพื้นเมืองได้มาตั้งถิ่นฐานทั้งคล้ายและแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือญาติดั้งเดิมของแต่ละวงศ์ตระกูล และมีอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้คนที่ย้ายมาจากถิ่นอื่น ที่มาค้าขาย หรือประกอบอาชีพทั่วไป ตามประวัติการก่อตั้งและพัฒนาการของแต่ละหมู่บ้านได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่แม่โป่งนานแล้ว ตั้งแต่เกิดมาก็มีบ้านแม่โป่งแล้ว และไม่รู้ว่าใครเป็นผู้มาตั้งถิ่นฐานคนแรก มีถนนลาดยางใช้ในการเดินทางเมื่อ พ.ศ.2530 เริ่มมีไฟฟ้าประมาณ พ.ศ.2496 เชื่อมสายมาจากแม่ฮ้อยเงิน มีการเลี้ยงเจ้านายในเดือนเก้า หรือประมาณเดือนกรกฎาคม โดยแต่ละบ้านจะทำกับข้าวประเภทลาบหมู ลาบไก่ แล้วนำไปรวมกันถวายแด่เจ้านาย เพื่ออันเชิญมาปกป้องชาวบ้านไม่ให้ได้รับอันตรายจากภัยต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ และไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกจากหมู่บ้านปัจจุบันมี 10 หมู่บ้าน แต่เมื่อก่อนมี ๖ หมู่บ้าน คือ

          หมู่ที่ ๑ ชื่อ บ้านตลาดขี้เหล็ก
          เป็นหมู่บ้านดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๐ เป็นต้นมา คำบอกเล่าว่าเริ่มต้นด้วยเกิดจากตระกูลพ่อค้าที่มาจากเมืองเหนือเชียงราย (อ.ท่าขี้เหล็ก เขตพม่า) ประกอบด้วย 5 หย่อมบ้าน คือ บ้านตลาดขี้เหล็ก บ้านท่ามะก๋ม บ้านห้วยก้า บ้านปางเรียบเรือ และบ้านแม่ฮ่องไคร้ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หย่อมบ้านเนื่องจากบ้านแม่ฮ่องไคร้มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นจึงแยกตั้งหมู่บ้านใหม่ ได้เข้ามาทำการค้าขายและตั้งรกรากหมู่บ้านขึ้น จึงตั้งชื่อบ้าน “กาดขี้เหล็ก” หรือ “ตลาดขี้เหล็ก”ตามถิ่นฐานเดิม อีกคำบอกเล่าหนึ่งเชื่อว่าเขตพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ตั้งหมู่บ้านนี้มีต้นไม้ขี้เหล็ก อยู่เป็นจำนวนมาก และมีร้านค้าขายของให้แก่ผู้คนที่เดินทางผ่านสัญจร รวมถึง พ่อค้าวัวต่าง ม้าต่าง ที่ขนถ่ายใบเมี่ยง ใบชา เสบียงอาหารทั่วไป จึงเรียกชื่อว่า “บ้านกาดขี้เหล็กหรือตลาดขี้เหล็ก” ตั้งแต่นั้นมา และด้วยความเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประวัติเล่าว่าองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จที่ดอยจอมแจ้ง เลยได้ร่วมกันสร้างวัดพระธาตุดอยจอมแจ้ง ขึ้น เป็นศูนย์รวมของศรัทธามาตราบเท่าทุกวันนี้
บ้านตลาดขี้เหล็กมีขอบเขตการปกครอง 4.8 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ ดังต่อไปนี้

          ทิศเหนือ ติด สวนป่าห้วยหลวง หมู่ที่ 1 ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศใต้ ติด บ้านแม่ฮ่องไคร้ หมู่ 8 อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศตะวันออก ติด ศูนย์การศึกษา และพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
          ทิศตะวันตก ติด บ้านป่าไผ่ หมู่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

          สภาพภูมิประเทศทั่วไป
          บ้านตลาดขี้เหล็กเป็นหมู่บ้านที่ติดกับพื้นที่ป่า มีพื้นที่ราบสลับลอนเนินเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 350 เมตร บริเวณทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน มีพื้นที่ประมาณ 2,800ไร่ สภาพเป็นป่าเต็งรังสลับป่าเบญจพรรณ อยู่ในสภาพค่อนข้าง สมบูรณ์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ป่าใช้สอยของชุมชนมีพื้นที่ประมาณ 800 ไร่ ลักษณะเป็นป่าเต็งรังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม มีแหล่งน้ำสายหลัก คือ ลำน้ำแม่โป่ง และครองชลประทานจากเขื่อนแม่กวง แหล่งน้ำทั้งสองมีน้ำไหลจลอดปีเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค น้ำที่ใช้ในการเกษตรได้จากอ่างเก็บน้ำห้วยก้า และฝายน้ำล้น

          หมู่ที่ ๒ บ้านป่าไผ
          เริ่มปักหลักฐานหมู่บ้านโดยกลุ่มคนพื้นเมืองในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องผูกพันกับเจ้าผู้ครองเมืองในอดีต ได้ใช้พื้นที่ป่าไม้ ป่าไผ่ เทือกสวนไร่นาที่อุดมสมบูรณ์ สำหรับเป็นทุ่งหญ้าและชายป่าเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย จึงตั้งชื่อ “บ้านป่าไผ่”และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มคนค้าขายยาสูบที่มาจากเมืองลำปาง(เมืองนครลำปางหรือละกอน) เล็งเห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ จึงได้ลงหลักปักฐานทำการเกษตรทำนา ทำสวน ดำรงชีพเลี้ยงครอบครัว ได้รวมก่อตั้งหมู่บ้านขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ มีตระกูลใหญ่ ๒-๓ ตระกูลที่ออกเป็นเสียง ท. หรือ ธ. ได้แก่ ตระกูลธาตุอินจันทร์, ทองคำฟู,ทาวรรณะ,ไทยใจอุ่น,เทโวขัติ,ทาอินทร์,ทูนกิจใจ,ทุนผลงาม,ทิศลังกา เป็นต้น บ้านป่าไผ่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2469 โดยมีนายสิงห์ ทิศลังกา เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบใกล้เชิงเขา ที่มาของชื่อหมู่บ้านเนื่องจากพื้นที่ก่อนที่จะมีการตั้งเป็นหมู่บ้านจะมีต้นๆไผ่เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงใช้เป็นชื่อหมู่บ้าน “บ้านป่าไผ” สภาพการคมนาคมในสมัยนั้นไม่มีถนนติดต่อกับหมู่บ้านอื่น มีแต่ทางเกวียน หรืออาศัยเดินตามคันนา เพื่อเข้าไปยังตัวอำเภอ จนกระทั่งในสมัยนายจันทร์วรรณ ทุนกิจใจ เป็นผู้ใหญ่บ้านในปี พ.ศ.2491 ได้นำชาวบ้านไปเก็บก้อนหินบนดอยรอบๆ หมู่บ้าน มาปรับถมถนนทางเข้าสู่หมู่บ้าน ต่อมาได้มีผู้จิตศรัทธา คือ พ่อนวล ธาตุอินจันทร์ ได้เสียสละบริจาคที่ดินเพื่อสร้างถนนจากวัดป่าไผ่เข้าสู่หมู่บ้าน ระยะทางประมาณ 700 เมตร จึงตั้งชื่อถนนนี้ว่า “ถนนนวลประชาราษฎร์อุทิศ”

          ขนาดและอาณาเขตติดต่อ

          บ้านป่าไผ่มีขอบเขตการปกครองประมาณ 5.6 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 3,523 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

                    ทิศเหนือ ติด บ้านห้วยบ่อทอง หมู่ที่ 10 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
                    ทิศใต้ ติด บ้านห้วยอ่าง หมู่ที่ 6 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
                    ทิศตะวันตก ติด บ้านห้วยบอน หมู่ที่ 3 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
                    ทิศตะวันออก ติด บ้านตลาดขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

          สภาพภูมิประเทศทั่วไป
          บ้านป่าไผ่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา ทิศตะวันออกของหมู่บ้านเป็นภูเขา ลักษณะเป็นป่าเต็งรัง ที่ตั้งบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มระหว่างภูเขากับที่ราบเชิงเขา มีลำน้ำแม่โป่งซึ่งมีเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลผ่าน

          การจัดการทรัพยากรป่าไม้
          บ้านป่าไผ่ได้มีการบริหารจัดการภายในชุมชน โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมในการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา ค้นหาจุดเด่น จุดด้อย วิเคราะห์หาสาเหตุ ตลอดถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหา และแนวทางความต้องการพัฒนาชุมชน โดยคำนึงถึงประสบการณ์ และทุนที่ปรากฏในชุมชนจากสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนพึ่งตนเอง จึงได้กำหนดการจัดการทรัพยากรในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้าน โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารจัดการ และดูแล โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและรอบชุมน พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรพื้นบ้านและหมอเมือง เพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ สืบทอดภูมปัญญาพื้นบ้าน อันสอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน
ต่อมาร่วมกันสร้างวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ ขึ้นที่วัดป่าไผ่ และโรงเรียนป่าไผ่ ขึ้นในหมู่บ้าน ต่อมาได้ย้ายมาสร้างที่บ้านห้วยบ่อทองในปัจจุบัน


          หมู่ที่ ๓ บ้านห้วยบอน
          เริ่มก่อตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากมีการก่อตั้งตำบลแม่โป่งขึ้น โดยกลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ตั้งแถบใกล้ป่าเชิงเขาและทุ่งนาฝั่งทิศใต้และตะวันตก ของป่าเทือกดอยผาเผิ้ง ที่แบ่งเขตระหว่างตำบลป่าป้องและตำบลแม่โป่ง ปัจจุบัน เป็นพื้นที่ลำน้ำห้วยเล็กใหญ่ไหลผ่าน ก่อนลงสู่ทุ่งนามีต้นบอนขึ้นตามร่องห้วย ลำเหมืองมากมาย จึงตั้งชื่อว่า “บ้านห้วยบอน” ตั้งแต่นั้นมา.

          ประวัติความเป็นมา
          บ้านห้วยบอนเป็นชุมชนที่ตั้งมาเป็นระยะเวลานาน หมู่บ้านหนึ่งของตำบลแม่โป่ง มีเนื้อที่ประมาณ 650 ไร่ ลักษณะอาณาเขตติดต่อ

          ภูมิประเทศทั่วไป
          บ้านห้วยบอนมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสำหรับเป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนและที่ทำกิน มีพื้นที่ป่าติดกับทิศเหนือของหมู่บ้าน สภาพเป็นป่าเต็งรัง มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีลำน้ำสายหลักที่ใช้ในการเกษตร 2 สาย คือ น้ำจากคลองชลประทานแม่กวงอุดมธารา และน้ำจากระบบแระปาหมู่บ้านที่ใช้ร่วมกับหมู่บ้านป่าไม้แดง

          หมู่ที่ ๔ บ้านแม่โป่งหลวง
          เป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีทำเลที่เหมาะสมอยู่สองฝั่งลุ่มน้ำแม่โป่ง บ้านแม่โป่งหลวงเป็นหมู่บ้านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในอดีต เป็นที่ตั้งเมืองเก่า มีผู้ปกครองเมืองชื่อพ่อขุนแสนประชิด ประชาการ แม่โป่งมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำ มีน้ำตลอดปีเกิดขึ้นกลางหมู่บ้าน จึงนำมาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน หมู่บ้านแม่โป่งมีท้องทุ่งนากว้างใหญ่ล้อมรอบบริเวณหมู่บ้าน เป็นศูนย์กลางของชุมชนกลุ่มคนพื้นเมือง เป็นแหล่งทำมาค้าขายของพ่อค้าแม่ค้าและผู้มาจากถิ่นอื่น ต่อมามีคลองชลประทานผาแตกจากเขื่อนแม่กวงฯไหลผ่านอีกสายหนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งมีอาชีพดั้งเดิมหาของป่า หาปู หาปลา และรับจ้างทั่วไป มีความหลากหลายของผู้คน

          กาดอุ้ยสา
          กาดอุ้ยสาตั้งอยู่ในเขตบ้านแม่โป่งหลวงหมู่ที่ 4 เป็นพื้นที่ของกรมชลประทาน แต่เดิมมีสภาพเป็นหิน พื้นผิวขรุขระ เมื่อประมาณ 14 – 15 ปีก่อน กำนัน โกศล ธรรมพุทธ ในขณะนั้นได้มีความคิดจะปรับพื้นที่เพื่อทำตลาด เห็นว่าทางอำเภอสันกำแพงมีกาดอุ้ยทา จึงคิดว่าจะเรียกกาดนี้ว่า กาดอุ้ยสา ตามชื่อของเจ้าของบ้านที่อยู่หน้าตลาด ในระยะแรกๆ มีคนมาขายของเพียงสองสามราย และเพิ่มจำนวนขึ้น ปัจจุบัน อุ้ยสา ที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกตลาดได้เสียชีวิตไปแล้วหลายปี เหลือเพียงแต่ลูกหลานที่ปัจจุบันเปิดร้านเป็นร้านขายของ
กาดอุ้ยสาเป็นตลาดที่ขึ้นชื่อเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารจากป่า ขายในราคาย่อมเยา ด้วยความที่มีชื่อเสียงทำให้คนที่ผ่านไปมา หรือคนในตำบล อำเภอใกล้เคียง มาจับจ่ายซื้อของ อย่างคึกคัก
วัดเป็นศูนย์รวมทางพระพุทธศาสนาถึง ๒ แห่ง คือวัดพระนอนแม่โป่ง และวัดดอยปล่อยนก เป็นที่ตั้งของสถานีตำบลภูธรแม่โป่ง สถานีอนามัย(ต่อมาได้ย้ายมาไว้ ข้าง ทต.แม่โป่ง) มีตลาดสด ตลาดนัด รวมถึงสถานศึกษาประจำตำบล (โรงเรียนแม่โป่งประชาสามัคคี) ได้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีต โดยผู้นำระดับตำบล ตำแหน่งกำนันตำบลแม่โป่ง จะอยู่ในหมู่บ้านนี้เป็นส่วนใหญ่ จึงตั้งชื่อว่า “ บ้านแม่โป่งหลวง” มาจนถึงปัจจุบัน

          หมู่ที่ ๕ บ้านพระนอนแม่โป่ง
          เป็นหมู่บ้านที่มีลำห้วยหรือลำน้ำแม่โป่งไหลผ่านจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก มีความยาวประมาณ 1,800 เมตรเศษ ลำน้ำแม่โป่งเป็นลำน้ำที่ไหลมาจากยอดดอย 3 สาย โดยสายที่ 1 มาจากยอดดอยจอมแจ้ง ไหลผ่านห้วยแม่ก๊าในอดีต ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยก้า สายที่ 2 มาจากยอดดอยหล่อหน้อย และดอยหล่อหลวง และวังมนหน้อย วังมนหลวง ไหลผ่านห้วยปางแม่เฮือในอดีต ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นอ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สายที่ 3 มาจากโป่งน้ำร้อนไหลผ่านบ้านโป่งฮ่อมในอดีต ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำพุร้อน ราษฎรบ้านแม่โป่งหมู่ที่ 5 ส่วนใหญ่จะสร้างบ้านเรือนอยู่ริมน้ำทั้งสองตลอดฝั่งลำห้วย หมู่บ้านมีทางติดต่อจากภายนอกด้วยถนนซึ่งเข้าออกได้ 4 เส้นทาง คือ ทิศตะวันออกใช้ถนน รพช.ไปน้ำพุร้อนสันกำแพง ระยะทาง 8 กิโลเมตร ทิศตะวันตกใช้ถนน รพช.ผ่านบ้าน แม่ฮ้อยเงิน บ้านสันทราย บ้านแม่จ้อง ถึงถนนสายใหญ่ สายดอยสะเก็ด – บ่อสร้าง ระยะทาง 8 กิโลเมตร ทิศเหนือใช้ถนนเลียบคันคลองชลประทานแม่กวงผ่านหมู่ที่ 9 บ้านป่าไม้แดง และตำบลป่าป้อง ถึงอำเภอดอยสะเก็ดระยะทาง 9 กิโลเมตร ทิศใต้ใช้ถนน รพช.ผ่านบ้านหนองแสะไปอำเภอสันกำแพง ระยะทาง 10 กิโลเมตร

          อาณาเขตติดต่อ
          ทิศเหนือ ติดกับ บ้านป่าไม้แดง หมู่ที่ 9 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองแสะ หมู่ที่ 1 ต.ห้วยทราย อ.สันกำแพง
          ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่โป่งหลวง หมู่ที่ 4 ต.แม่โป่ง่ อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแม่ฮ้อยเงิน หมู่ที่ 1 ต.แม่ฮ้อยเงิน อ.ดอยสะเก็ด

          บ้านพระนอนแม่โป่ง เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ของกลุ่มคนพื้นเมืองอีกหมู่หนึ่ง ที่อยู่ติดลำน้ำแม่โป่งและล้อมรอบไปด้วยท้องทุ่งนากว้างใหญ่ ที่มีบริบทพื้นที่ร่วมดำเนินวิถีชีวิตและคล้ายคลึงกับบ้านแม่โป่งหลวง และเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญประจำตำบลที่ก่อสร้างขึ้นมาด้วยเชื่อศรัทธาในพระพุทธศาสนาและองค์สัมมา สัมพุทธเจ้า มีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ “พระนอน” จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านพระนอนแม่โป่ง” และมีพระธาตุนพรัตน์เจดีย์ มีพระสารีริกธาตุบรรจุไว้ เป็นที่เคารพกราบไหว้ มาจนถึงวันนี้


          หมู่ที่ ๖ บ้านห้วยอ่าง
          เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ป่าเชิงเขา มีลำห้วยที่ไหลมาลงหนองน้ำ ชาวบ้านเรียก “หนองงู” อดีตมีพื้นที่ค่อนข้างกว้างเป็นอ่างขนาดใหญ่ จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านห้วยอ่าง” พบเป็นแหล่งโบราณสถานกลุ่มวัดร้างในพื้นที่ป่าเชิงเขา มีลำห้วยไหลผ่านลงสู่ลำน้ำแม่โป่ง ก่อนปี พ.ศ 2474 แรกเริ่มมีครอบครัวธรรมมังและครอบครัวธรรมสะอาด มาตั้งอยู่ก่อน ซึ่งมีจำนวนครัวเรือนประมาณ 30 ครัวเรือน โดยเป็นคนพื้นเมืองเดิม ในอดีตพื้นที่บริเวณนี้ได้ประสบภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือนชาวบ้านเป็นอย่างมากในปี พ.ศ 2506 โดยมีนายสีหมื่น ธรรมขันแข็ง เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกฯ บ้านห้วยอ่างซึ่งต่อมาได้มีการขยายตัวของจำนวนครัวเรือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในปี พ.ศ.2524 โดยการนำของนายมอย พรหมคำติ๊บ ได้นำอาชีพการเคี่ยนไม้มาเผยแพรในหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นอาชีพรองจากการทำการเกษตรเรื่อยมา ปัจจุบันส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทางการเกษตรทั่วไป และทำอาชีพจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ในครัวเรือนฯ

          อาณาเขตติดต่อ
          ทิศเหนือ ติดกับ บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศใต้ ติดกับ บ้านต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านแม่ฮ่องไคร้ หมู่ที่ 8 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแม่โป่งหลวง หมู่ที่ 4 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด

          ภูมิประเทศทั่วไป
          บ้านห้วยอ่างมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีพื้นที่ภูเขาที่มีสภาพป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้าน โดยสภาพพื้นที่ป่าบ้านห้วยอ่างเป็นพื้นที่ที่ติดกับป่าผืนใหญ่ของบ้านแม่ฮ่องไคร้ และอำเภอสันกำแพง โดยการจัดการทรัพยากรป่าไม้บ้านห้วยอ่างได้เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2547 ดดยความมร่วมมือของคนในชุมชน ป่าชุมชนบ้านห้วยอ่างอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง มีความอุดมสมบูรณ์ ไม้ที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ เหียง รัง มีชาวบ้านทั้งใน และนอกชุมชนเข้าไปใช้ประโยชน์โดยการตัดไม้ และหาของป่าเป็นจำนวนมาก ผู้ใหญ่บ้าน นายสุรินทร์ ทิพรอด และคณะกรรมการหมู่บ้านจึงมีความคิดริเริ่มจัดทำป่าชุมชนในพื้นที่ของหมู่บ้านเพื่อให้ป่าไม้คงอยู่ และสงวนป่าไม่ให้ชาวบ้านใช้สอยต่อไป
การจัดการพื้นที่ป่าในระยะแรกได้กำหนดพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ บริเวณที่ราบเชิงเขาติดกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน กำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีการปลูกไม้ผลเสริมเพิ่ม โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ของกลุ่มเยาวชนประมาณ 70 ไร่ ส่วนที่ 2 คือ บริเวณภูเขากำหนดเป็นป่าใช้สอย เพื่อให้ชาวบ้านใช้เก็บหาของป่า และใช้ประโยชน์จากไม้ฟืน โดยภายในชุมชนได้มีกฎถือเป็นข้อตกลงร่วมกันว่าผู้ใดที่จะเข้าไปใช้สอยต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ปัจจุบันป่าชุมชนบ้านห้วยอ่างมีพื้นที่ 1,050 ไร่ ต่อมามีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้ขยายหมู่บ้าน ซึ่งแยกมาจากหมู่บ้านเดิมอีก ๔ หมู่บ้าน คือ

          หมู่ที่ ๗ บ้านต้นผึ้ง
          ตั้งหมู่บ้านขึ้น ตั้งแต่มี พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งแยกมาจากบ้านห้วยอ่าง หมู่ที่ ๖ เป็นราษฎรที่ขยายตัวออกไปอยู่ตามแนวป่าเชิงเขาที่มีพื้นที่ราบเรียบไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน แต่ส่วนใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งจะเคลื่อนย้ายมาจากบ้านหนองแสะ หมู่ที่ ๒ ตำบลห้วยทราย เขตอำเภอสันกำแพง ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อระหว่างกัน หมู่บ้านมีพื้นที่เป็นป่าอยู่หัวไร่ปลายนา ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมพื้นที่ในบริเวณบ้านต้นผึ้งในปัจจุบัน เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะมีผึ้งจำนวนมากมาทำรังอาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ จึงได้ตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ว่า “บ้านต้นผึ้ง” หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ก็ได้มีชาวบ้านทยอยเข้ามาอาศัย ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านจากบ้านหนองแสะ และบ้านต้นผึ้งยังมีสระน้ำหรือหนองน้ำที่เป็นแหล่งชุ่มน้ำในพื้นที่ ชาวบ้านเรียกชื่อ “หนองแมงดา” ดังนั้นจึงมักเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “ บ้านต้นผึ้ง (หนองแมงดา) ” ต่อมาทางราชการได้สร้างคลองชลประทานเขื่อนแม่กวงอุดมธาราไหลผ่านถึง ๒ สาย

          อาณาเขตติดต่อ
          ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยอ่าง หมู่ที่ 6 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยทราย หมู่ที่ 8 ต.ห้วยทราย อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยอ่าง หมู่ที่ 6 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านแม่โป่งหลวง หมู่ที่ 4 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด

          สภาพภูมิประเทศทั่วไป
          บ้านต้นผึ้งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และบางส่วนเป็นพื้นที่สลับลอนเนินเขา บริเวณหมู่บ้านติดอยู่กับพื้นที่ป่า ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีคลองชลประทาน 2 สายไหลผ่านหมู่บ้าน และมีถนนเลียบคลองชลประทานทั้ง 2 สาย ไหลผ่านเป็นแนวยาวจากทิศเหนือไปใต้ สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าเต็งรัง พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ พลวง เหียง ส่วนพื้นที่รอบหมู่บ้านทางตะวันออกจะเป็นภูเขาและเป็นป่าชุมชนที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมตามแนวทางการจัดการป่าไม้แบบมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน

          หมู่ที่ ๘ บ้านแม่ฮ่องไคร้
          เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านตลาดขี้เหล็ก หมู่ที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื่องจากมีจำนวน ประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมบ้านตลาดขี้เหล็กเกิดจากการรวมกันของ 5 หมู่บ้าน คือ บ้านตลาดขี้เหล็ก บ้านท่ามะก๋ม บ้านปางเรียบเรือ(ปางแม่เฮือ) บ้านห้วยก้า และบ้านแม่ฮ่องไคร้ ต่อมาบ้านแม่ฮ่องไคร้ได้มีการพัฒนา มีความเจริญ และมีการขยายตัวของจำนวนประชากร จึงได้แยกมาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ เป็นหมู่บ้านแม่ฮ่องไคร้ หมู่ที่ 8

          อาณาเขตติดต่อ
          ทิศเหนือ ติดกับ บ้านตลาดขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด
          ทิศใต้ ติดกับ บ้านเนินเขาหลวง ต.ห้วยทราย อ.แม่ออน
          ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 4 ต.ออนเหนือ อ.แม่ออน
          ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด

          ภูมิประเทศของหมู่บ้าน
          เป็นพื้นที่ราบลาดเอียงเชิงเขา มีทุ่งนาเลียบสองฝั่งลำห้วย ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำห้วยฮ่องไคร้ผ่านหมู่บ้าน จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแม่ฮ่องไคร้” มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสลับเนินเขา อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 350 เมตร เป็นหมู่บ้านที่มีบริเวณป่าล้อมรอบ มีแม่น้ำสายหลัก คือ ลำห้วยแม่โป่ง โดยน้ำที่ใช้ในการเกษตรได้จากอ่างเก็บน้ำหนองอาบช้าง และฝายบ้านแม่ฮ่องไคร้ ที่มีการจัดทำระบบเหมืองฝายชุมชน และฝายบุคคล ทำให้มีปริมาณน้ำใช้ตลอดปี สภาพป่าที่ล้อมรอบชุมชนประมาณ 2,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง บริเวณด้านทิศใต้ของหมู่บ้านมีสภาพป่าสมบูรณ์ ประมาณ 1,000 ไร่ เป็นป่าต้นน้ำ และป่าใช้สอยประมาณ 500ไร่ บริเวณด้านทิศตะวันออก และทิศตะวันตกมีสภาพอุดมสมบูรณ์ปานกลางประมาณ 500 ไร่ มีแหล่งน้ำสำคัญประจำหมู่บ้าน คืออ่างเก็บน้ำหนองอาบช้าง อีกทางหนึ่งไหลมาจากป่ารอบบริเวณพุน้ำร้อน เขตอำเภอแม่ออน หมู่บ้านจะล้อมรอบไปด้วยป่าไม้เต็งรังเบญจพรรณ ลักษณะเป็นป่าชุมชนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารมากมาย พื้นที่บริเวณจะพบแหล่งโบราณสถานเก่าแก่อยู่หลายจุด


          หมู่ที่ ๙ บ้านป่าไม้แดง
          เป็นหมู่บ้านที่แยกมาจากบ้านห้วยบอน หมู่ที่ ๓ เนื่องจากมีประชากรขยายตัวเพิ่มขึ้น และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มเครือญาติที่มาจากบ้านป่าไม้แดงเขตตำบลป่าป้อง ที่อยู่ติดกัน ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้แดงขึ้นอย่างหนาแน่น จึงได้นำสัญลักษณ์ดังกล่าว จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านป่าไม้แดง” ลักษณะพื้นที่หมู่บ้านจะเป็นชุมชนใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างท้องทุ่งนา และสวนป่าเชิงเขา ที่มีป่าไม้เต็งรัง รวมถึงพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดในทั่วบริเวณ ทางชุมชนได้ร่วมตั้งแหล่งพุทธอุทยานขึ้นในพื้นที่สวนป่า ตั้งชื่อว่า “อารามฮอมบุญ” เป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาและเกี่ยวข้องผูกพันกับการรักษาป่าของชุมชนตามจารีตประเพณีที่ดีงาม


          อาณาเขตติดต่อ
          ทิศเหนือ ติดกับ บ้านป่าตึง หมู่ที่ 1 และบ้านทุ่งยาว หมู่ที่ 8 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศใต้ ติดกับ บ้านพระนอนแม่โป่ง หมู่ที่ 4 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านห้วยบอน หมู่ที่ 3 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

          หมู่ที่ ๑๐ บ้านห้วยบ่อทอง
          แยกมาจากบ้านป่าไผ่ หมู่ที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ มีเนื้อที่ประมาณ 1,235 ไร่ มีนายสวัสดิ์ ทองใจดี เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก เดิมสภาพป่าเป็นป่าเต็งรังที่มีสภาพสมบูรณ์ ยังไม่มีชาวบ้านเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ มีเพียงสำนักสงฆ์เล็กๆ เพียงแห่งเดียว คือวัดป่าไผ่ (ในปัจจุบัน) ต่อมาได้มีครอบครัวของ พ่อหนานตา ไทยราชา ซึ่งย้ายมาจากบ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2 เข้ามาตั้งรกรากในบริเวณนี้ และประกอบอาชีพตั้งเตาเผาอิฐ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงขายกิจการพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่างให้แก่ พ่อคำ ตาติโน ก่อนที่จะมีการตั้งบ้านเรือน ชาวบ้านใกล้เคียงได้นำสัตว์เข้ามาเลี้ยง แต่หลังจากครอบครัวของพ่อคำ ได้เข้ามาอยู่ก่อนมีการขยายตัวของแระชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านในขณะนั้นว่า “บ้านวัด” ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านห้วยบ่อทอง” เล่าว่า ในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำซับลักษณะเป็นบ่อเล็กๆ มีน้ำไหลตลอดปี ไหลลงมาตามลำห้วยเข้าสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านใช้อุปโภค บริโภค ลักษณะน้ำจะเป็นสีเหลือง ชาวบ้านจึงให้ชื่อว่า บ้านห้วยบ่อทอง หรือปัจจุบันเรียกว่า “น้ำบ่อหลวง”
ก่อนที่จะตั้งเป็นหมู่บ้านพื้นที่บริเวณยังไม่มีผู้คนมาอาศัยอยู่มากนัก ต่อมาได้มีการย้ายวัดป่าไผ่ (โรงเรียนบ้านป่าไผ่ในปัจจุบัน) ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางหมู่บ้านเนื่องจากมีพื้นที่ค่อยข้างคับแคบ มาตั้งในพื้นที่ใกล้ชายป่าริมทุ่งเชิงเขาดอยผาผึ้ง ชื่อ “วัดกัญจน์นิธยาราม” หรือ “วัดป่าไผ่” จึงมีราษฎรจากหมู่บ้านป่าไผ่ อพยพเคลื่อนย้ายมาตั้งบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ บริเวณ จึงเรียกติดปากกันว่า “บ้านวัด” ต่อมาได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปตามพื้นที่ป่าเลียบเขา ประกอบมีหย่อมบ้านชุมชนตั้งรกรากอยู่มาแต่เดิมเชิงเขาทิศใต้ของดอยผาเผิ้งอยู่แล้วชื่อ “บ้านห้วยเต๋ย”ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก สองหย่อมบ้านจึงได้รวมกันแยกเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง ลักษณะเด่นที่ค้นพบคือพื้นที่หมู่บ้านจะมีลำห้วยโบราณที่ไหลมาจากบริเวณชายป่าเชิงเขา ไหลมาลงบ่อน้ำเป็นสีทอง จึงเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่แห่งนี้ว่า “บ้านห้วยบ่อทอง” และได้ร่วมกันบริหารจัดการหมู่บ้านอย่างมีส่วนร่วม เป็นหมู่บ้านป่าชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาจนถึงปัจจุบัน

        อาณาเขตติดต่อ
          ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหมู่ที่ 1 ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศใต้ ติดกับ บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
          ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านตลาดขี้เหล็ก หมู่ที่ 1 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และศูนย์ศึกษา และพัฒนาวนศาสตร์ชุมชนที่ 13
          ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยบอน หมู่ที่ 3 ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

          สภาพภูมิประเทศ
          บ้านห้วยบ่อทองมีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบ หมู่บ้านตั้งอยู่บริเวณชายขอบป่า พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบดินเหนียว สภาพป่าเต็งรัง มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 350 เมตร ทิศเหนือของหมู่บ้านเป็นภูเขา คือ ดอยผาผึ้ง น้ำที่ใช้ในการเกษตรได้มาจากคลองชลประทานของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา น้ำบ่อหลวงและประปาหมู่บ้าน มีใช้อุปโภคบริโภคตลอดปี

          การจัดการป่าชุมชน
          บ้านห้วยบ่อทองเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในกลุ่มริเริ่มการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีส่วนร่วมของตำบลแม่โป่ง โดยได้ผ่านการฝึกอบรมราษฎร หลักสูตร “ป่าชุมชน” โดยกรมป่าไม้ในงบประมาณ 2543 มีพื้นที่ป่าชุมชน 385 ไร่ สภาพป่าเป็นป่าเต็งรัง มีพันธ์ไม้เด่น ได้แก่ เต็งรัง สัก ยาง เหียง ชาวบ้านได้มีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า ในการเก็บหาของป่าชนิดต่าง ๆ
          ปัจจุบันตำบลแม่โป่ง จึงแบ่งการปกครอง ออกเป็น ๑๐ หมู่บ้าน ซึ่งเกิดการพัฒนาการมาตามลำดับ
ตั้งแต่อดีต โดยมีอดีตผู้ปกครองสูงสุด คือตำแหน่งกำนัน เมื่อก่อนไม่ได้เรียกกำนัน แต่เรียกว่า ท้าว หรือแสน ลำดับมาดังนี้คือ ๑. ขุนแสนประชิต เป็นกำนันคนแรก ๒. กำนันติ๊บ ไทยยันโต ๓. กำนันสม ทองอาญา ๔.กำนันแก๊ง ๕. กำนันปั๋น พรมกรณ์ ๖.กำนันอ้าย สุพันธ์มณี ๗.กำนันพีระ งามเหลือ ๘.กำนันป๋า เทศชมพู ๙. กำนันแก้ว ธงซิว ๑๐. กำนันสมิง ทาอินทร์ ๑๑. กำนันโกศล ธรรมพุฒิ ๑๒ กำนันวันชัย ทะนันตา ๑๒.กำนันสวัสดิ์ ทาวรรณะ ๑๓.นายสมยศ ตะริโย กำนันคนปัจจุบันตามลำดับ

          1.2 ลักษณะภูมิประเทศ
          ตำบลแม่โป่งเป็นที่ราบเชิงเขาและที่ภูเขาอยู่ในชั้นความสูงประมาณ 340 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะพื้นที่ลาดเอียงในแนวทิศเหนือไปทางทิศใต้ และทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีลำห้วยอยู่โดยทั่วไป มีแหล่งน้ำสำคัญ ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้, น้ำแม่โป่ง และคลองชลประทานแม่กวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำทางการเกษตรที่สำคัญมีเส้นทางคมนาคมสายหลักคือ ถนนหมายเลข 4034 (บ้านแม่ก๊ะ – บ้านแม่ฮ่องไคร้) ถนนหมายเลข 4035 (บ้านสันกำแพง – บ้านป่าไผ่) ถนนหมายเลข 5102(บ้านป่าไม้แดง–บ้านป่าไผ่)

          1.3 ลักษณะภูมิอากาศ
          สภาพอากาศโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณเดือนสิงหาคม ถึง เดือนตุลาคม ทำให้ภูมิอากาศ มีลักษณะเป็นแบบอากาศชื้นและแล้ง โดยแบ่งฤดูกาลออกได้ 3 ฤดูกาล คือ
                    • ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน
                    • ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน
                    • ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์

อุณหภูมิสูงสุด 37-38 องศาเซลเซียส ต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส

          1.4 ลักษณะของดิน
          สภาพดินเป็นดินหินกรวด มีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม

          1.5 ลักษณะของแหล่งน้ำ
          ตำบลแม่โป่ง มีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา อยู่ทางทิศใต้ของอำเภอดอยสะเก็ด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีลำห้วยอยู่โดยทั่วไป มีแหล่งน้ำสำคัญ ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้, น้ำน้ำแม่โป่ง และคลองชลประทานแม่กวงมีลำเหมืองแม่โป่งไหลผ่าน

          1.6 ลักษณะของแหล่งน้ำ
          ตำบลแม่โป่ง มีสภาพเป็นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีลำห้วยอยู่โดยทั่วไป มีแหล่งน้ำ
สำคัญ ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยฮ่องไคร้, ลำน้ำแม่โป่ง อ่างเก็บน้ำห้วยมะนะ และคลองชลประทานแม่กวงมีลำเหมืองแม่โป่งไหลผ่าน

          1.7 ลักษณะของไม้และป่าไม
          พื้นที่ตำบลแม่โป่ง เป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาล้อมรอบ จึงมีพื้นที่ป่าไม้ และมีพิ้นที่เป็นป่าชุมชน มีหมู่ที่ 1, 3 ,6,7,8,9,10 โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมดทั้งหมด 37,751 ไร่ หรือ 60 ตารางกิโลเมตร มี แยกเป็น

          ที่ราบ 18,875 ไร่ คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์
          ภูเขา 18,120 ไร่ คิดเป็น 48 เปอร์เซ็นต์
          พื้นน้ำ 756 ไร่ คิดเป็น 2 เปอร์เซ็นต์

          พืชพรรณส่วนใหญ่ที่ขึ้นพื้นที่ป่า เป็นป่าเบญจพรรณ ไม้ที่สำคัญคือไม้ ไม้เต็ง รัง และไม้เบญจพรรณอื่นๆ ที่สามารถเติบโตได้ดีในพื้นที่เชิงเขา


2. ด้านการเมือง/การปกครอง

          2.1 เขตการปกครอง
          จำนวนหมู่บ้าน ในเขตปกครองของ เทศบาลตำบลแม่โป่ง(Villages) เทศบาลตำบลแม่โป่งมี 10 หมู่บ้านในเขตปกครองได้แก่

หมู่ที่ 1 บ้านตลาดขี้เหล็ก
หมู่ที่ 2 บ้านป่าไผ่
หมู่ที่ 3 บ้านห้วยบอน
หมู่ที่ 4 บ้านแม่โป่งหลวง
หมู่ที่ 5 บ้านพระนอนแม่โป่ง
หมู่ที่ 6 บ้านห้วยอ่าง
หมู่ที่ 7 บ้านต้นผึ้ง
หมู่ที่ 8 บ้านแม่ฮ่องไคร้
หมู่ที่ 9 บ้านป่าไม้แดง
หมู่ที่ 10 บ้านห้วยบ่อทอง

          2.2 การเลือกตั้ง

          “เทศบาลตำบลแม่โป่ง” เดิมมีฐานะเป็นสภาตำบล โดยใช้ชื่อว่า “สภาตำบลแม่โป่ง”และได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลแม่โป่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2539 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะจาก “องค์การบริหารส่วนตำบล”เป็น “เทศบาล” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม พ.ศ.2551 และใช้ชื่อว่า “เทศบาลตำบลแม่โป่ง” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
เทศบาลตำบลแม่โป่ง มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 2 เขต มีจำนวนสมาชิกสภาเทศบาล 12 คน

การบริหารงานของเทศบาลตำบลแม่โป่ง


องค์การเทศบาลตำบลแม่โป่ง ประกอบด้วย
          (1) สภาเทศบาล ทำหน้าที่นิติบัญญัติ และควบคุมฝ่ายบริหารประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น จำนวน 12 คน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี สภาเทศบาลมีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลตามมติของสภาเทศบาล

          (2) นายกเทศมนตรี ทำหน้าที่บริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติและนโยบาย ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและรองนายกเทศมนตรี จำนวน 2 คน
เลขานุการ จำนวน 1 คน และยังมีที่ปรึกษานายกเทศมนตรีอีก 1 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งจากนายกเทศมนตรีทั้งนี้ มีปลัดเทศบาล เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาล และลูกจ้างเทศบาล รองจากนายกเทศมนตรี และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย


โครงสร้างและอัตรากำลังในการบริหารงานของเทศบาลตำบลแม่โป่ง
          เทศบาลตำบลแม่โป่ง ได้เปลี่ยนแปลงฐานะจากองค์การบริหารส่วนตำบล มาเป็นเทศบาล เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ. 2541 เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างคล่องตัว และสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรูปแบบการบริหารงาน ดังนี้


คณะผู้บริหารเทศบาลตำบลแม่โป่ง

-

สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแม่โป่ง จำนวน 10 คน

-
3. จำนวนประชากร

          ข้อมูลจำนวนประชากรในเขตเทศบาลตำบลแม่โป่ง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

หมู่ที่

หมู่บ้าน

เพศ

รวมประชากรทั้งสิ้น (คน)

ชาย

หญิง

1

บ้านตลาดขี้เหล็ก

187

174

361

2

บ้านป่าไผ่

351

386

737

3

บ้านห้วยบอน

298

319

617

4

บ้านแม่โป่งหลวง

373

433

806

5

บ้านพระนอนแม่โป่ง

307

329

636

6

บ้านห้วยอ่าง

283

290

573

7

บ้านต้นผึ้ง

171

161

332

8

บ้านแม่ฮ่องไคร้

121

123

244

9

บ้านป่าไม้แดง

335

365

700

10

บ้านห้วยบ่อทอง

283

282

565

รวมทั้งหมด

2,709

2,862

5,571

4. สภาพทางสังคม

          4.1 การศึกษา
          สถาบันการศึกษา (Academic) มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 2 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 2 แห่ง ระดับก่อนวัยเรียน 2 แห่ง
                    1. โรงเรียนระดับประถมศึกษาได้แก่
                              (1) โรงเรียนแม่โป่ง ประชาสามัคคี
                              (2) โรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็ก

                    2. โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาได้แก่
                              (1) โรงเรียนบ้านแม่โป่ง
                              (2) โรงเรียนบ้านตลาดขี้เหล็ก

                    3. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 แห่งได้แก่
                              (1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสิรินธร

                    4. โรงเรียนเอกชน
                              (1)โรงเรียนอนุบาลจันทโชติ

          4.2 สาธารณสุข
          สถานบริการสาธารณสุขในตำบลแม่โป่ง มี 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านห้วยบ่อทอง ตำบลแม่โป่ง

5.ระบบบริการพื้นฐาน

          5.1 การคมนาคมขนส่ง
          เส้นทางจากจังหวัดเชียงใหม่ – อำเภอดอยสะเก็ด ใช้ทางหลวงสายเชียงใหม่ – ดอยสะเก็ด – เชียงราย จากที่ว่าการอำเภอดอยสะเก็ด – ตำบลแม่โป่ง สภาพถนนเป็นถนนลาดยางตลอดเส้นทางมีรถโดยสารประจำทางผ่าน 1 สาย ได้แก่ สายแม่โป่ง – ดอยสะเก็ด

          5.2 การไฟฟ้า
          ไฟฟ้าเข้าถึงทุกหมู่บ้านแต่กำลังไฟฟ้ายังไม่พอต่อความต้องการโดยเฉพาะช่วงเย็นและหัวค่ำอัตราการใช้ไฟฟ้าทั้งตำบลยังไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม อยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นถนนในเขตเทศบาล ที่มีไฟฟ้าสาธารณะ จำนวน 220 สาย

          5.3 การประปา
          จำนวนประปาหมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลแม่โป่ง จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย

          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 จำนวนผู้ใช้น้ำ 139 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 2 จำนวนผู้ใช้น้ำ 277 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 3 จำนวนผู้ใช้น้ำ 224 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 จำนวนผู้ใช้น้ำ 321 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 จำนวนผู้ใช้น้ำ 245 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 จำนวนผู้ใช้น้ำ 279 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 7 จำนวนผู้ใช้น้ำ 136 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 8 จำนวนผู้ใช้น้ำ 108 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 จำนวนผู้ใช้น้ำ 239 ครัวเรือน
          ประปาหมู่บ้าน หมู่ที่ 10 จำนวนผู้ใช้น้ำ 196 ครัวเรือน

          5.4การโทรศัพท์/ไปรษณีย์

          1. ตู้โทรศัพท์สาธารณะ 10 แห่ง
          2. หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน 10 แห่ง
          3. ตู้ไปรษณีย์ 2 แห่ง

6.ระบบเศรษฐกิจ

          ในพื้นที่ตำบลแม่โป่ง เป็นชุมชนขนาดเล็ก ไม่ค่อยมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจนและกว้างขวางมากนัก ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ การประกอบอาชีพเกษตรกรรม พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา ในขณะเดียวกันครัวเรือนเกษตรกรรมจะมีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับการเพาะปลูกเป็นอาชีพเสริม ได้แก่ การเลี้ยงวัว ควาย สุกร และไก่ อาชีพนอกภาคเกษตร ส่วนมากจะเป็นการรับจ้างในกิจกรรมหลายประเภท เช่น การก่อสร้าง การทำเฟอร์นิเจอร์ การแกะสลัก นอกจากนี้ภายในชุมชน ยังมีการรวมกลุ่มโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านป่าไผ่ หมู่ที่ 2 นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูป คือ กระเทียมโทน มะม่วงแช่อิ่ม ขิงดอง เป็นต้น และแปรรูปผลิตภัณฑ์แชมพูสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ แชมพูมะกรูด ครีมนวดมะกรูด แชมพูดอกอัญชัน ครีมนวด ดอกอัญชัน แชมพูประคำดีควาย ครีมนวดประคำดีควาย แชมพูน้อยหน่า ครีมนวดน้อยหน่า แชมพูมังคุด แชมพูตะไคร้ เป็นต้น บริการในพื้นที่และนอกพื้นที่ เป็นผลิตภัณฑ์ (OTOP) ของชุมชน นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มทำผลิตภัณฑ์จากไม้แปรรูป เย็บผ้า เพาะเห็ดหลินจือ ทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ประชาชนทำเป็นอาชีพเสริมหลังจากทำการเกษตร

องค์กรธุรกิจ ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลแม่โป่งได้แก่

1. โรงโม่หิน 1 แห่ง
2. โรงสีข้าว 10 แห่ง
3. ร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด 37 แห่ง
4. ร้านขายอาหาร 16 แห่ง
5. ร้านซ่อมจักรยานยนต์ 7 แห่ง
6. ร้านตัดผม 5 แห่ง
7. ปั๊มน้ำมันหลอด 6 แห่ง
8. ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ 1 แห่ง
9. โรงกระเทียมดอง 2 แห่ง
10. ฟาร์มกล้วยไม้ 3 แห่ง
11. ฟาร์มไก่ 11 แห่ง
12. ฟาร์มหมู 1 แห่ง
13.ฟาร์มโคนม 5 แห่ง

7. เศรษฐกิจพอเพียงท้องถิ่น (ด้านเกษตรและแหล่งน้ำ
          พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ของตำบลแม่โป่ง คือ
          1. ข้าวเหนียว มีพื้นที่การเพาะปลูก ประมาณ 2,500 ไร่ มีปริมาณผลผลิตต่อปี เฉลี่ย 1,700 ตัน
          2. ถั่วลิสง มีพื้นที่การเพาะปลูก ประมาณ 220 ไร่ มีปริมาณผลผลิตต่อปี เฉลี่ย 270 ตัน
          3. หอมแดง มีพื้นที่การเพาะปลูก ประมาณ 200ไร่ มีปริมาณผลผลิตต่อปี เฉลี่ย 720 ตัน
          4. กระเทียม มีพื้นที่การเพาะปลูก ประมาณ 150 ไร่ มีปริมาณผลผลิตต่อปี เฉลี่ย 460 ตัน
          5. ลำไย กระเทียม มีพื้นที่การเพาะปลูก ประมาณ 200 ไร่ มีปริมาณผลผลิตต่อปี เฉลี่ย 40 ตัน


8 . ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม
สถาบันทางศาสนา (Religion Institute) มีทั้งหมด 6 วัด 3 สำนักสงฆ์ ได้แก่
          1. วัดพระธาตุจอมแจ้ง
          2. วัดกัญจน์นิธยาราม (วัดป่าไผ่-บ่อทอง)
          3. วัดใหม่มงคลชัย (วัดห้วยบอน)
          4. วัดดอยปล่อยนก
          5. วัดพระนอนแม่โป่ง
          6. วัดแม่ฮ่องไคร้
          7. อารามต้นผึ้ง บ้านต้นผึ้ง
          8. สำนักสงฆ์อมบุญบ้านป่าไม้แดง
          9. สำนักสงฆ์วัดหลวงหนองงู


9. ทรัพยากรธรรมชาติ
          ตำบลแม่โป่งหลวง ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน สภาพพื้นที่โดยรวมเป็นที่ราบเชิงเขา ทำให้ไม่ มีพื้นที่ป่าของแต่ละหมู่บ้าน ยกเว้น หมู่ที่ 4 , 5 แต่ด้วยผู้นำหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ได้มีความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ จึงได้พัฒนาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ด้วยการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับหมู่บ้าทุกหมู่บ้าน พร้อมทั้งได้สนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของตำบลอย่างสม่ำเสมอ แต่ประชาชนบางส่วนก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากป่า โดยเข้าไปใช้ทรัพยากรจากป่าชุมชนของหมู่บ้านใกล้เคียง พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎระเบียบของหมู่บ้านนั้น ๆ ดังนั้น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลแม่โป่งจึงมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงความเชื่อมประสานระหว่างบ้านที่มีพื้นที่ป่าและบ้านที่ไม่มีพื้นที่ป่า ความตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว มีความเสียสละต่อส่วนรวมในภาพรวมของการอนุรักษ์ทรัพยากรระดับตำบล ไม่มีการแบ่งแยกเป็นหมู่บ้านที่มีป่าหรือไม่มีป่า




กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการ ปปช. กระทรวงมหาดไทย ฐานข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ (GINFO)
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ICT
สำนักงบประมาณ กรมสรรพากร ระบบบันทึกการเกิดอุบัติเหตุ ข่าวสารอาเซียน
ศูนย์ดำรงธรรม ระบบจัดการข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง